ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

The Theory of Disruptive Innovation (Part 1)


The Theory of Disruptive Innovation

เอกสารฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อใช้ประกอบการสอนวิชา Strategy เพื่อให้นักศึกษาเข้าใจแนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับ Disruptive Innovation และสามารถนำทฤษฎีมาประยุกต์ใช้ในการตัดสินใจสร้างกลยุทธ์การเติบโตด้วยนวัตกรรม เนื้อหาส่วนใหญ่ได้มาจากหนังสือของ เคลย์ตัน คริสเต็นเซ่น (Clayton M. Christensen) และการบรรยายของ คริสเต็นเซ่น ในสถานที่ต่าง ๆในช่วงปี 2011-2018[1]

เคลย์ตัน คริสเต็นเซ่น (Clayton M. Christensen) เป็นศาสตราจารย์สอนหนังสือที่ โรงเรียนธุรกิจฮาร์วาร์ด (Harvard Business School) มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เขาโด่งดังด้วยทฤษฎี Disruptive innovation ซึ่งเขียนไว้ในหนังสือเล่มแรกชื่อ The Innovator’s Dilemma (1997)[1] ทฤษฎี "นวัตกรรม Disruption” เป็นแนวคิดธุรกิจที่มีอิทธิพลมากที่สุดในช่วงต้นศตวรรษที่ 21[2] แอนดี้ โกรฟ ซีอีโอของอินเทล (Intel) กล่าวสรรเสริญว่า "The Innovator's Dilemma" เป็นหนังสือที่สำคัญที่สุดที่เขาอ่านมาในรอบสิบปี สตีฟ จอบส์ ยอมรับว่าเขาได้รับอิทธิพลอย่างลึกซึ้งจากหนังสือของคริสเต็นเซ่น บิล เกตต์ กล่าวว่าทฤษฎีของ คริสเต็นเซ่น กลายเป็นสิ่งที่จำเป็นในการพิจารณาการลงทุนทุกครั้ง นอกจากนี้ เขายังเขียนหนังสือเกี่ยวกับนวัตกรรม อีกหลายเล่ม เช่น The Innovator’ s Solution (2003), Disrupting Class (2008) Innovator's Prescription (2009) The Innovative University (2011) Competing Against Luck: The Story of Innovation and Customer Choice (2016) นอกจากเป็นนักวิชาการแล้ว เขายังมีประสบการณ์ด้านการทำธุรกิจโดยจัดตั้งบริษัทอินไซด์ ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่บริษัทในการสร้างการเติบโตด้วยนวัตกรรม ก่อนจะเปลี่ยนวิถีชีวิตมาเป็นอาจารย์สอนหนังสือ
คริสเต็นเซ่น ใช้เวลากว่า 20 ปีในการค้นหาคำตอบให้กับคำถามสำคัญ 2 ข้อคือ 1) ทำไมบริษัทขนาดใหญ่ที่เคยประสบความสำเร็จมาหลายปีและถือว่าเป็นบริษัทที่ดีที่สุดจึงประสบความล้มเหลว และไม่สามารถรักษาตำแหน่งความเป็นผู้นำ ไว้ได้ 2) หากเราเป็นสตาร์ทอัพ (Startup) เราจะทำอย่างไรจึงจะชนะบริษัทขนาดใหญ่ได้ ทั้งนี้จากการศึกษาและวิจัยพบว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีทรัพยากรมหาศาล แม้ทำทุกอย่างถูกต้องตามหลักการของธุรกิจคือผลิตสินค้าสนองความต้องการของลูกค้าและลงทุนในธุรกิจที่มีกำไร ก็ยังคงสูญเสียความเป็นผู้นำในตลาดหรือแม้กระทั่งล้มเหลวได้ คริสเต็นเซ่น อธิบายว่า แรงผลักดันให้บริษัทขนาดใหญ่ตัดสินใจสร้างการเติบโตด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรมให้ดีขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งเกิดจากการมุ่งแสวงหากำไร ทั้งนี้เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มที่มีความต้องการสูงและเป็นกลุ่มที่มีรายได้สูงซึ่งอยู่ส่วนบนของตลาด (High-end market) โดยละเลยลูกค้าที่อยู่ส่วนล่างของตลาดซึ่งมักมีรายได้น้อย และต้องการผลิตภัณฑ์พื้นฐานที่ใช้งานง่ายและราคาถูก คริสเต็นเซ่น เรียกวิธีการสร้างนวัตกรรมแบบนี้ว่า Sustaining innovation

ผู้ประกอบการรายใหม่ที่เพิ่งเข้าตลาด (New entrant) หรือ สตาร์ทอัพ (Startup) เข้าแข่งขันในส่วนล่างของตลาดที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ละเลยหรือไม่สนใจ ด้วยนวัตกรรมใหม่ เสนอผลิตภัณฑ์พื้นฐาน ใช้งานง่าย ราคาถูก หรือสร้างตลาดใหม่โดยขายผลิตภัณฑ์ให้ประชาชาชนส่วนใหญ่ที่ไม่เคยบริโภคสินค้านั้น ๆ มาก่อน ซึ่งอาจจะเกิดจากไม่ความสะดวกในการซื้อและใช้บริการ หรือไม่สามารถจ่ายได้เพราะมีราคาแพง ในระยะเริ่มต้น ผลิตภัณฑ์ของสตาร์ทอัพ มักมีคุณภาพไม่สู้ดี ถ้าเปรียบเทียบกันในเรื่องของ ประสิทธิภาพ/ลักษณะ/คุณภาพ/การใช้งาน (Performance) แต่ต่อมามีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรมใหม่จนสามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดบนได้ หรือสามารถดึงลูกค้าที่อยู่ในตลาดล่างให้มาใช้ผลิตภัณฑ์ของสตาร์ทอัพได้ จนท้ายที่สุด สามารถขับไล่ผู้ประกอบการที่ครองตลาดเดิมให้ออกจากตลาดได้ คริสเต็นเซ่น เรียกวิธีการสร้างนวัตกรรมแบบนี้ว่า Disruptive Innovation ตัวอย่างเช่น โรงงานเหล็กขนาดเล็ก (Steel mini mill) ผลิตเหล็กเส้นที่มีคุณภาพต่ำ (Rebar) ใช้ในงานก่อสร้าง และต่อมาปรับปรุงเทคโนโลยีจนสามารถผลิตแผ่นเหล็ก (Sheet steel) คุณภาพสูง ที่ใช้ในวงการอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและ รถยนต์ โรงงานขนาดเล็กสามารถขับไล่บริษัทผลิตเหล็กกล้าแบบบูรณาการหรือแบบครบวงจร (Integrated steel mill) ที่เคยครอบครองตลาดอยู่ก่อนออกจากอุตสาหกรรมเหล็กกล้าได้ในที่สุด หลักคิดดังกล่าวกลายเป็นทฤษฎีที่ผู้จัดการและซีอีโอทั่วโลกต้องเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับการเติบโตและนวัตกรรมใหม่[1] 

คริสเต็นเซ่น อธิบายว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับบริษัทขนาดใหญ่ที่มุ่งเน้นการพัฒนาสินค้าด้วย Sustaining Innovation เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่มลูกค้าในตลาดระดับบนซึ่งมีรายได้สูง ต้องเผชิญกับบริษัทขนาดเล็กที่ใช้ Disruptive Innovation เข้ามาเสนอขายสินค้าขั้นพื้นฐานให้กลุ่มลูกค้าในตลาดระดับล่างที่บริษัทขนาดใหญ่ละเลย บริษัทต้องเลือกตัดสินใจว่าจะยังคงผลิตสินค้าที่มีคุณภาพดีกว่า เพื่อตอบสนองต่อลูกค้าที่ยินดีจ่ายในราคาที่สูงกว่า หรือจะผลิตสินค้าพื้นฐานที่มีคุณภาพต่ำกว่า ราคาถูกกว่า สำหรับลูกค้าในตลาดระดับล่างที่มีความสามารถในการจ่ายน้อยกว่า บริษัทขนาดใหญ่ส่วนใหญ่ยังคงตัดสินใจเลือกที่จะผลิตสินค้าที่มีคุณภาพดีกว่าสำหรับกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้สูง ซึ่งท้ายที่สุดก็ต้องประสบความล้มเหลวเพราะคู่แข่งขันรายใหม่พัฒนาสินค้าที่มีคุณภาพดีขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่ง บริษัทใหญ่ที่ครองตลาดมาเป็นระยะเวลานานต้องพ่ายแพ้และออกจากตลาดไป คริสเต็นเซ่น เรียกสถานการณ์นี้ว่า Innovator's Dilemma[1] 
Disruptive Innovation Model
Source: Clayton M. Christensen, Michael Raynor, and Rory Mcdonald. From “What is Disruptive Innovation?, December”, HBR, 2015
รูปภาพที่ 1 The Disruptive Innovation Model

รูปภาพที่ 1 แสดง ความแตกต่างกันของวิถีทางของประสิทธิภาพของสินค้า (เส้นสีแดง ซึ่งแสดงการปรับปรุงสินค้าตามกาลเวลา [Product performance trajectories]) และวิถีทางของความต้องการของลูกค้าตามกาลเวลา (เส้นสีน้ำเงินแสดงความเต็มใจของลูกค้าที่จ่ายสำหรับประสิทธิภาพของสินค้า [Performance customers will pay for]) เมื่อผู้ประกอบการรายเดิมเสนอสินค้าที่มีคุณภาพสูงกว่า (เส้นสีแดงด้านบน) เพื่อตอบสนองต่อลูกค้าด้านบนของตลาด (ซึ่งมีกำไรสูงสุด) ประสิทธิภาพของสินค้าดังกล่าวเกินความต้องการของลูกค้าด้านล่างของตลาดและลูกค้าหลักจำนวนมาก การทำแบบนี้เปิดช่องให้ผู้ประกอบการรายใหม่ (new entrants) ปรับปรุงประสิทธิภาพสินค้าและเคลื่อนสู่ตลาดบน (ที่ซึ่งสามารถทำกำไรได้สูงสุดเหมือนกัน) และท้าทายผู้ครอบครองตลาดรายเดิม

ทฤษฎี Disruptive Innovation แสดงการเกิด Disruption ว่าเป็นกระบวนการที่บริษัทขนาดเล็กหรือสตาร์ทอัพที่มีทรัพยากรน้อยกว่าสามารถท้าทายบริษัทขนาดใหญ่ได้สำเร็จ โดยเฉพาะเมื่อบริษัทขนาดใหญ่มุ่งปรับปรุงสินค้าที่มีความต้องการมากที่สุด (มีกำไรมากที่สุด) โดยให้ประสิทธิภาพของสินค้าเกินความต้องการของลูกค้าบางกลุ่มและไม่สนใจลูกค้าบางกลุ่ม บริษัทขนาดเล็กเริ่มเข้ามา Disrupt ที่ด้านล่างของตลาดโดยบริษัทขนาดใหญ่ไม่ทันสังเกต เสนอสินค้าในส่วนที่รายใหญ่ละเลย ด้วยราคาที่ต่ำกว่า บริษัทขนาดใหญ่ยังคงแสวงหากำไรจากกลุ่มลูกค้าที่ต้องการมากกว่า และไม่ตั้งใจตอบโต้ ต่อมาบริษัทขนาดเล็กเคลื่อนสู่ด้านบนของตลาด เสนอขายสินค้าตามความต้องการของกลุ่มลูกค้าหลักในตลาดบน โดยมีความได้เปรียบจากต้นทุนที่ถูกกว่า Disruption เกิดขึ้นเมื่อลูกค้าหลักของธุรกิจขนาดใหญ่หันมาซื้อสินค้าของสตาร์ทอัพจำนวนมาก คริสเต็นเซ่น กล่าวว่าไม่ใช่รายใหญ่ไม่สร้างนวัตกรรม แต่พวกเขาใช้เวลาไปกับการพัฒนาสินค้าให้ดีกว่าเพื่อลูกค้ากลุ่มเดิม ซึ่งเขาเรียกว่า Sustaining Innovation ตามเส้นสีแดงด้านบน (รูปภาพที่ 1 ) ซึ่งแสดงการปรับปรุงสินค้าตามกาลเวลาของผู้ประกอบการที่ครองตลาด (Incumbent sustaining trajectory) ส่วนเส้นสีแดงด้านล่างเป็นการพัฒนาสินค้าของผู้ประกอบการรายใหม่หรือสตาร์ทอัพ


[1] Clayton M. Christensen, The Innovator ‘s Dilemma, Harvard Business School Press, Boston, Massachusetts, 1997


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

8 ขั้นตอนในการปรับเปลี่ยนองค์กร (8-Step Process of Transformation)

John P. Kotter เสนอ 8 ขั้นตอนของการปรับเปลี่ยนองค์กร (Transformation) ไว้ดังนี้ 1) สร้างการตระหนักของความเร่งด่วนของการเปลี่ยนแปลง (Establishing a greater sense of urgency) 2) สร้างทีมนำการเปลี่ยนแปลง (Creating the guiding coalition) 3) พัฒนาวิสัยทัศน์และยุทธ์ศาสตร์ที่ชัดเจน (Developing a vision and strategy) 4) สื่อวิสัยน์ทัศน์ในการเปลี่ยนแปลงให้พนักงานเข้าใจและมีส่วนร่วม (Communicating the change vision) 5) มอบอำนาจให้ผู้อื่นปฏิบัติ (Empowering others to act) 6) สร้างแผนชัยชนะในระยะสั้น (Creating short-term wins) 7) สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง (Consolidating gains and producing even more change) 8) สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เป็นวัฒนธรรมองค์กร (Institutionalizing changes in the culture) John P. Kotter สำเร็จการศึกษาจาก MIT และ Harvard และ เริ่มเป็นอาจารย์สอนที่ Harvard Business School เมื่ออายุ 33 ปี John P. Kotter เขียนหนังสือ 15 เล่ม และ ผลงานได้รับการยอมรับว่าเป็นเลิศทางด้านภาวะผู้นำและการเปลี่ยนแปลง (Leadership and Change) หนังสือที่เป็นที่รู้จักกว้างขวางและได้รับการแปลหลายภาษาไ

การปฏิบัติการ (Operations)

ในการวางแผนด้านการปฏิบัติการ องค์กรต้องตอบคำถามสำคัญดังต่อไปนี้ 1) กระบวนการทำงานที่สำคัญขององค์กรมีอะไรบ้าง 2) องค์กรต้องปรับปรุงกระบวนการอะไรบ้างเพื่อสนับสนุนการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติ อาทิเช่น ปรับปรุงกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ในกรณีที่องค์กรต้องการเติบโตด้วยนวัตกรรม หรือปรับปรุงกระบวนการจัดการลูกค้า ในกรณีที่องค์กรต้องการเสริมสร้างความจงรักภักดีในกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย 3) องค์กรจะวัดผลของกระบวนการทำงานว่ามีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างไร 4) เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่ามีการเชื่อมโยงกลยุทธ์กับการปฏิบัติการและงบประมาณอย่างเหมาะสม สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่หลายองค์กรคำนึงเมื่อวางแผนด้านการปฏิบัติการ เกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ (Criteria for Performance Excellence Framework) เป็นเครื่องมือใ้นการบริหารจัดการองค์กร เรามาลองพิจารณาว่าเกณฑ์ ฯ นี้มีแนวคิดต่อการปฏิบัติการอย่างไรบ้าง การปฏิบัติการ (Operations) จากเกณฑ์ฯ หมวดที่ 6 ตรวจประเมินว่า องค์กรมีวิธีการออกแบบ วัดผล และปรับปรุงกระบวนการทำงานที่สำคัญอย่างไร โดยแบ่งเกณฑ์เป็นสองส่วนคือ กระบวนการทำงาน และ ประสิทธิผลของก

Strategic Challenges (ความท้าทายเชิงกลยุทธ์)

TQA (Thailand Quality Award) ให้ความหมายคำว่า ความท้าทายเชิงกลยุทธ์ว่า หมายถึง แรงกดดันต่างๆ ที่มีผลอย่างชัดเจนต่อความสำเร็จในอนาคตขององค์กร ความท้าทายเหล่านี้มักเกิดจากแรงผลักดันของตำแหน่งในการแข่งขันในอนาคตขององค์กร เมื่อเปียบเทียบกับองค์กรอื่นที่มีผลิตภัณฑ์หรือบริการที่คล้ายคลึงกัน โดยทั่วไปความท้าทายเชิงกลยุทธ์เกิดจากแรงผลักดันภายนอก แต่อย่างไรก็ตามอาจจะเกิดจากความท้าทายเชิงกลยทธ์ภายในองค์กร ความท้าทายเชิงกลยุทธ์ภายนอกอาจเกี่ยวกับ - โลกาภิวัฒน์ (Globalisation) - ความต้องการหรือความคาดหวังของลูกค้าหรือตลาดหรือสังคม (เช่น คนและสังคม ต้องการการศึกษาแบบออนไลน์มากขึ้น คนต้องการติดต่อสื่อสาร ทุกสถานที่ และทุกเวลา) - การเปลี่ยนแปลงของผลิตภัณฑ์ บริการ หรือเทคโนโลยี (เช่น การเปลี่ยนแปลงของโทรศัพท์มือถือ การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต--email,web, Blog, Twitter) - ความเสี่ยงด้านการเงิน เศรษฐกิจ สังคม การเมือง และ กฎเกณฑ์การแข่งขัน ความท้าทายเชิงกลยุทธ์ภายใน อาจเกี่ยวกับ - ขีดความสามารถขององค์กร - ทรัพยากรบุคคล ขององค์กร (เช่น การขาดคนเก่งด้าน ICT การพัฒนาคน ค่าใช้จ่ายพนักงาน ผลตอบแทน